คำพิพากษาฏีกาคดีหมิ่นประมาท

คำพิพากษาฏีกาคดีหมิ่นประมาท

คำพิพากษาฎีกาที่ 380/2503  จำเลยได้ยินอาของโจทก์เล่าให้ฟังว่าโจทก์กับ อ.ซึ่งเป็นญาติรักใครกันในทางชู้สาว นอนกกกอดจูบกันและได้เสียกัน ต่อมามีนาง ส. มาถามจำเลย จำเลยก็เล่าข้อความตามที่ได้ยินมาให้นาง ส. ฟัง เช่นนี้ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์อย่างเห็นได้ชัด แม้จำเลยจะตอบไปโดยถูกถามก็ดี จำเลยควรต้องสำนึกในการกระทำ และเล็งเห็นผลการกระทำของจำเลยได้ว่าจะทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ถือว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1861/2561  ป.อ. มาตรา 329 เป็นบทบัญญัติยกเว้นการกระทำที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อมิให้ผู้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตต้องตกเป็นผู้กระทำผิด ทั้งนี้เพื่อให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่กระทำได้ในขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติ และเพื่อรักษาประโยชน์ของบุคคลหรือสาธารณะ ขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์จะกระทำได้มากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากองค์ประกอบความผิดแล้ว ยังต้องพิเคราะห์ความเกี่ยวข้องของผู้กระทำ ผู้เสียหาย สถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนมูลเหตุ และพฤติการณ์แวดล้อมอันเป็นที่มาแห่งการกระทำด้วยแม้ถ้อยคำและข้อความที่จำเลยที่ 2 กล่าวโจมตีโจทก์ แต่สถานะของโจทก์ที่เป็นนักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้นำประเทศ ย่อมเป็นที่คาดหวังของสังคมทุกระดับชั้นทั้งในและต่างประเทศว่าต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรม มีพฤติกรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกด้านของการกระทำทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะในมิติของกฎหมายหรือศีลธรรม ตลอดจนการดำรงตนในสังคมในทุกกรณีบุคคลสาธารณะในฐานะนักการเมืองเช่นโจทก์ ผู้มีส่วนได้เสียย่อมใช้สิทธิติชมได้โดยสุจริต และต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวาง ตามพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุดังวินิจฉัยเชื่อมโยงถึงขณะเกิดเหตุที่จำเลยที่ 2 กล่าวถ้อยคำในการแถลงข่าว ทั้งเป็นการแถลงต่อสื่อมวลชนโดยเปิดเผยอันแสดงถึงเจตจำนงที่ต้องการให้สาธารณชนรับรู้ จึงเข้าเกณฑ์ข้อยกเว้นว่าเป็นการกระทำไปโดยสุจริต เพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้านเช่นจำเลยที่ 2 ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ในนามของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 329 (3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ส่วนถ้อยคำเปรียบเปรยหรือเสียดสีโจทก์เป็นผีปอบนั้น แม้เป็นการไม่สมควรกล่าวถึงโจทก์ แต่ก็เป็นถ้อยคำเสียดสีในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป ถ้อยคำส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2560  จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ตามบทนิยามของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 มิได้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบในการผลิตข่าวแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มิได้นำสืบพยานให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับข่าวตามที่โจทก์นำมาฟ้องอย่างไร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทได้

จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์มติชนออนไลน์ เป็นผู้นำเสนอข่าวสารทางระบบคอมพิวเตอร์ในนามของตนเอง คือเว็บไซต์มติชนออนไลน์ จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้ให้บริการตามบทนิยามของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และการที่เว็บไซต์มติชนออนไลน์เสนอข่าวใด ๆ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของและเป็นผู้ให้บริการ ยินยอมให้มีการนำเสนอข่าวดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้มอบให้บุคคลอื่นควบคุมดูแลบริหารจัดการเว็บไซต์โดยจำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องกับข่าวดังกล่าวเลยหาได้ไม่ เพราะบทกฎหมายข้างต้นมีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์จะควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ให้บริการโดยเฉพาะ

โจทก์มิได้เป็นแกนนำหรือเข้าร่วมการชุมนุมตามข่าวที่ปรากฏ ถือได้ว่าข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวโจทก์เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ เมื่อข่าวดังกล่าวระบุว่าการชุมนุมมีการนำรถบรรทุกสิบล้อมาปิดถนน อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้รถทุกประเภทไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งตามข่าวระบุว่าเป็นแกนนำการชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้บริการยินยอมให้มีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14 (1)

หนังสือพิมพ์รายวันมติชนของจำเลยที่ 1 เผยแพร่และวางจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ส่วนเว็บไซต์มติชนออนไลน์ก็เผยแพร่โดยระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวได้ทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าการกระทำตามฟ้องเกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร โจทก์จึงใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2558  การนำหนังสือพิมพ์ไปแจกโดยทราบว่ามีเนื้อหาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ถือได้ว่าเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปแล้ว จึงเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

 

กฎหมายหน้ารู้

ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาหรือคดีแพ่งต่อศาล

            ถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาล ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็มีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น การถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาลในคดีแพ่งจะมีความสำคัญต่อเรื่องของยอดเงินและความรับผิดชอบหรือค่าเสียหายที่จะต้องรับผิดชอบต่อคู่ความอีกฝ่ายว่าฝ่ายที่ถูกฟ้องจะต้องรับผิดชอบต่อฝ่ายโจทก์ในคดีแพ่งมากน้อยแค่ไหนเพียงใด
ส่วนกรณีหากท่านใดถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ก็มีผลว่าคดีดังกล่าวจะต้องรับโทษทางอาญา มากน้อยแค่ไหนเพียงใด เช่น โทษจำคุก โทษปรับ กักขัง
เพราะฉะนั้นหากท่านใดมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคดีความดังกล่าวข้างต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ท่านเกิดความเสียเปรียบ หรือเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดี รวมทั้งเพื่อการเตรียมพร้อมหรือการเตรียมตัวก่อนขึ้นศาล ทนายแนะนำว่า ท่านที่มีปัญหาดังกล่าวสมควรติดต่อและเข้าพบทนายความเพื่อขอรับคำปรึกษา หรือขอรับคำแนะนำ เพื่อรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้
           ทั้งนี้ขั้นตอนดังกล่าว ถือว่าเป็นขั้นตอนขั้นต้นในการแก้ไขปัญหาคดีความที่เกิดขึ้นต่อกันได้ หรือเรียกว่าเป็นบันไดขั้นที่ 1

กฎหมายหน้ารู้

ตั้งเรื่องฟ้องได้ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

“ตั้งเรื่องฟ้องได้ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง”

       ก่อนการยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลในคดีแพ่ง ทนายความควรตระเตรียมรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน รอบคอบ ให้มากที่สุด ดังนี้

          – ต้องตรวจสอบ สถานะของคู่ความ (ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย)

กรณีบุคคลธรรมดา ต้องตรวจสอบว่ามีความสามารถในการใช้สิทธิทางศาลหรือไม่ กล่าวคือ ต้องมีสภาพบุคคล และมีรายละเอียดทางประวัติ เช่น  ชื่อ นามสกุล อายุ เพศ วันเดือนปีเกิด เชื้อชาติ สัญชาติ ครอบครัว อาชีพ ภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ และ เป็นผู้เยาว์ เป็นคนไร้ความสามารถ หรือ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือไม่ ฯลฯ กรณีนิติบุคคล  ก็ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม ในเรื่องหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลจากนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท เพื่อดูอำนาจของกรรมการ หรือ ผู้จัดการ ว่ามีอำนาจจัดการแทนบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น หรือไม่ เพราะจะมีผลเกี่ยวโยงไปถึงเรื่อง อำนาจฟ้อง และ เขตอำนาจศาล

         – ตรวจสอบข้อเท็จจริง ในคดี โดยสอบจาก โจทก์(ลูกความ) และ พยานบุคคล พยานเอกสาร ที่โจทก์ อ้างถึง พิจารณาเรื่องราว ต่าง ๆ

ที่ทำให้เกิดการโต้แย้งสิทธิ์ และ โจทก์ มีความเดือดร้อนอย่างไร มีความเสียหายประการใดบ้าง

         – ตรวจสอบว่า มีประเด็นข้อพิพาทกี่ประเด็น  และ ประเด็นต่างๆ เหล่านั้น มีหลักกฎหมาย เรื่องใดสนับสนุน และ สามรถนำมา

ปรับใช้กับ ข้อเท็จจริง ในคดีได้

       – ตรวจสอบเรื่อง เขตอำนาจศาล ว่าคำฟ้องนั้นๆ ควรยื่นฟ้องต่อศาลใด เช่น ยื่นฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนา , ยื่นฟ้องต่อศาลที่มูลคดีเกิด

แต่ถ้าเป็นคำฟ้องที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือ สิทธิประโยชน์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ก็ให้ยื่นฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้น ตั้งอยู่

       – ตรวจสอบ หลักกฎหมาย ว่า โจทก์ต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนฟ้องหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด

ให้ครบถ้วนเสียก่อน โจทก์ จึงจะมาฟ้องคดีได้ เช่น การฟ้องบังคับจำนอง มีกฎหมายกำหนดว่า ผู้รับจำนอง ต้องมีจดหมายบอกกล่าว

ไปยังลูกหนี้ ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ถ้าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าวนั้น  ผู้รับจำนอง จึงจะมาฟ้องคดีได้

     – ตรวจสอบ อายุความ ในเรื่องที่จะฟ้องให้ชัดเจน เช่น การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน ฐานละเมิด นั้นมีอายุความ 1 ปี

นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ

ก็สามารถใช้อายุความโดยทั่วไปได้ คือ 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้

     – การคำนวณ ทุนทรัพย์  การดำเนินคดีในศาลนั้น ฝ่ายโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องคดี  คดีที่มีทุนทรัพย์สูง

ค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดีก็จะสูงตามไปด้วย แต่หากคิดคำนวณ ตั้งทุนทรัพย์ ต่ำๆ เพื่อหวังลดค่าใช้จ่าย ก็อาจมีผลเสีย บางประการ เช่น

หากโจทก์ แพ้คดีในศาลชั้นต้น แล้วทุนทรัพย์ ต่ำเกินไป ก็อาจทำให้โจทก์เสียสิทธิ การขอ อุทธรณ์ ฎีกา    ดังนั้น ควรคิดคำนวณทุนทรัพย์ ให้ดีๆ

     – การแจ้งความประสงค์ ของโจทก์ว่า จะขอให้ศาลช่วย เรื่องใด อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็น บทสรุป โดยทำเป็น  “คำขอท้ายฟ้อง”

(ใช้แบบพิมพ์ของศาล) หากไม่มี คำขอท้ายฟ้อง ศาลก็จะไม่สามารถบังคับตัดสินคดีให้ได้ เพราะมีหลักกฎหมาย ห้ามมิให้ศาล พิพากษาเกินคำขอ

***หากทำได้ครบถ้วนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น การตั้งเรื่องฟ้อง ก็จะหนักแน่น รัดกุม ทำให้มีโอกาสได้รับชัยชนะ สูง***

กฎหมายหน้ารู้

การเตรียมเรื่องก่อนที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาล

การเตรียมเรื่องก่อนที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาล

            เมื่อลูกความมีความประสงค์ที่จะฟ้องคดีและให้ทนายความว่าต่างแก้ต่างให้ลูกความและทนายความจะต้องจัดเตรียมเรื่องอย่างไรและมีความมุ่งหมายอย่างไรในคดีแพ่งมีข้อพิจารณาดังต่อไปนี้

            1.ทนายความต้องประชุมกับลูกความเพื่อสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้นทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุอื่นๆที่จะทำให้ทนายความทราบและวินิจฉัยเบี้องต้นในข้อกฎหมายเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินคดีว่าจะให้เป็นไปในทิศทางใด

            2.เมื่อทนายความทราบถึงข้อเท็จจริงและเหตุผลแล้วขั้นตอนต่อไป คือการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งที่มีอยู่กับตัวลูกความเองและพยานหลักฐานอื่นที่ทนายความจะต้องไปเสาะแสวงหาจากหน่วยงานราชการอื่นหรืองค์กรอื่นหรือบุคคลอื่นและสถานที่อื่นบางคดีอาจต้องลงพื้นที่ที่เกิดเหตุเพื่อถ่ายรูปและเก็บข้อมูลรวมถึงทำแผนที่เพื่อจัดเตรียมนำเสนอต่อศาลในลำดับถัดไป

            3.เมื่อพยานหลักฐานพร้อมแล้ว ทนายความจะต้องนัดหมายลูกความเพื่อรายงานให้ทราบถึงขั้นตอนการทำงานและความคืบหน้าในการดำเนินคดีพร้อมทั้งอธิบายถึงทางได้ทางเสียที่ลูกความจะได้รับในการดำเนินคดีทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระและการตกลงใจพร้อมกับลงลายมือชื่อในอกสารต่างๆที่ทนายความได้จัดทำมา

การเตรียมคดีในคดีอาญากล่าวคือ เมื่อลูกความตัดสินใจที่จะฟ้องร้องคดีอาญาต่อบุคคลอื่นเมื่อทนายความประชุมสอบข้อเท็จจริงแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาเป็นลำดับแรกคือ การเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)โดยลูกความต้องไม่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดหรือเป็นฝ่ายก่อให้เกิดการกระทำผิดนั้นขึ้นมาเอง ประการต่อมาคืออายุความฟ้องร้องผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 และประการต่อมาคือให้พิจารณาถึงเขตอำนาจศาลตามกฎหมายซึ่งในคดีอาญานั้นสถานที่เกิดเหตุถือว่าเป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่งที่ศาลจะรับคดีเอาไว้พิจารณาหรือไม่ เมื่อเงื่อนไขตามกฎหมายครบถ้วนแล้ว ทนายความจึงดำเนินการฟ้องคดีอาญาให้กับท่านได้ต่อไป

กฎหมายหน้ารู้