การไกล่เกลี่ยในชั้นศาล

การไกล่เกลี่ยในชั้นศาล

คำจำกัดความ “การไกล่เกลี่ยในชั้นศาล”

เป็นวิธีระงับข้อพิพาทรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution – ADR) โดยมีบุคคลที่สามซึ่งเป็นกลางในการทำหน้าที่ช่วยเหลือเสนอแนวทางออกร่วมกันที่คู่พิพาทจะยอมรับและพึงพอใจ    หากทั้งสองฝ่ายเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอจะเข้าสู่การตกลงประนีประนอมยอมความกันโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อศาล ซึ่งผูกพันให้คู่พิพาทต้องปฏิบัติตาม ไม่ใช่กรณีที่ผู้ตัดสินชี้ขาดในข้อพิพาท

ประเภทของการไกล่เกลี่ยมี 2 ประเภท

1.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนอกศาล : เป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนมีการฟ้องร้องคดีต่อศาล ทำหลักฐานเป็นหนังสือเรียกว่า สัญญา ถ้าฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตาม อีกฝ่ายฟ้องร้องคดีให้ปฏิบัติตามได้

2.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาล : เป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเมื่อคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ศาลจะให้ผู้ประนีประนอมดำเนินการ หากคู่ความตกลงกันก็จะมีการถอนฟ้อง หรือทำสัญญาประนีประนอมยอม ซึ่งศาลจะทำคำพิพากษาตามตกลงกัน หรือหากตกลงกันได้บางส่วนก็จะสืบพยานในประเด็นที่ตกลงกับไม่ได้เท่านั้น ถ้าอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตามที่ประนีประนอมยอมความกันไว้ อีกฝ่ายสามารถบังคับคดีได้ทันที ไม่ต้องฟ้องร้องเป็นคดีใหม่

ผู้ประนีประนอมอาจจะเป็น ผู้พิพากษา ข้าราชการศาล บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ประนีประนอม เพื่อช่วยเหลือศาลในการไกล่เกลี่ยให้คู่พิพาทได้ประนีประนอมกัน

           เจตนารมณ์ของกฎหมาย การเกิดนิติสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดโดยนิติกรรมหรือนิติเหตุย่อมทำให้เกิดข้อพิพาทกันได้เสมอ เมื่อมีข้อพิพาทก็ต้องมีวิธีการยุติข้อพิพาท ในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้นั้น จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล แน่นอนว่าการใช้สิทธิทางศาลนั้นต้องมีการตัดสินให้เกิดผลแพ้และชนะ ซึ่งอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมนั้นเสียไป

กฎหมายเล็งเห็นความสำคัญในข้อนี้ จึงมีวิธีการยุติข้อพิพาทอีกวิธี คือ การประนีประนอมยอมความ ซึ่งทำให้ข้อพิพาทเดิมระงับไปและผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยการประนีประนอมยอมความเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายพึงพอใจยุติข้อพิพาทร่วมกัน ไม่มีฝ่ายใดเป็นฝ่ายแพ้ และไม่มีฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะ เป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันต่อไปได้ เป็นวิธีที่แก้ไขปัญหา ฟื้นฟูความสัมพันธ์ เยียวยาความเสียหาย

         ระเบียบและข้อบังคับในเรื่องการไกล่เกลี่ย

ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 20 ตรี และพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.๒๕๖๒

ท่านใดสงสัยในเรื่องการไกล่เกลี่ยคดีความที่มีข้อพิพาทต่อกันทั้งทางแพ่งและอาญา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-1217414  , 091-0473382

กฎหมายหน้ารู้