ผิดสัญญาการจ้าง สิทธิการคิดค่าเสียหาย
กรณีที่ผู้ว่าจ้างอาจคิดค่าเสียหายหรือเรียกร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดได้คือ
- มีการกำหนดความรับผิดไว้ในสัญญาว่าจ้าง
- เกิดความชำรุดบกพร่องอันเนื่องมาจากความผิดของผู้รับจ้าง หรือชักช้าในการที่ทำ ผู้ว่าจ้างสามารถเรียกให้ผู้รับจ้างรับผิดได้ เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องหรือความล่าช้านั้นเพราะสภาพสัมภาระที่ผู้ว่าจ้างหามาหรือเพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างเอง แต่ทั้งนี้หากผู้รับจ้างรู้ว่าสัมภาระนั้นไม่ดีหรือคำสั่งของผู้ว่าจ้างดังกล่าวจะกระทบทำให้เกิดความชำรุดบกพร่องหรือชักช้าในการที่ทำและไม่เตือนผู้ว่าจ้างผู้รับจ้างยังต้องรับผิด
- กรณีเมื่อได้เริ่มทำงานแล้วแต่งานบกพร่องหรือเป็นไปในลักษณะที่ฝ่าฝืนข้อสัญญา เพราะความผิดของผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างอาจบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขความบกพร่องหรือบอกให้ปฏิบัติตามสัญญาโดยกำหนดระยะเวลาตามสมควรได้ หากเลยระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้ว่าจ้างอาจนำออกให้คนนอกทำการแก้ไขซ่อมแซมหรือทำต่อไปในการนั้นได้ และผู้รับจ้างต้องเสี่ยงความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้นได้
- กรณีผู้รับจ้างมีหน้าที่ในการหาสัมภาระเอง แต่หากการจัดหาสัมภาระมาไม่ดีผู้รับจ้างต้องรับผิดในการนั้น
กรณีดังกล่าวผู้เขียนเห็นว่า การตกลงว่าจ้างเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ผู้รับจ้างจะต้องใช้ความรู้ความสามารถ รวมทั้งแรงงานที่ได้รับงานมาจากผู้ว่าจ้างให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในทางการที่จ้าง ดังนั้นการเข้ารับงานของตนต้องพึงใช้ความระมัดระวังในการทำงานโดยคำนึงถึงแบบและความต้องการของผู้ว่าจ้างที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด การทำงานเรื่องใดที่มีแบบและวัสดุ หรือขั้นตอนและวิธีการในการดำเนินการที่ชัดเจนเป็นลายลักอักษร ผู้รับจ้างต้องพึงปฏิบัติตามให้เรียบร้อยให้สมกับการไว้วางใจของผู้ว่าจ้าง สำหรับผู้ว่าจ้างเองก็มีหน้าที่ในการจ่ายเงินค่าตอบแทนค่างานที่เกิดขึ้นจากการทำงานของผู้รับจ้างด้วย แต่กรณีเกิดข้อพิพาทต่อกันในเรื่องการจ้างที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการละเลยการทำงาน เกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาด เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและข้อตกลงที่เกิดขึ้นในภายหลังเป็นส่วนใหญ่ หรือเกิดจากการเอารัดเอาเปรียบของคู่สัญญาด้วยกันเอง
ดังนั้น หากเกิดข้อพิพาทในเรื่องการจ้างต่อกันแล้ว ก็คงต้องนำเรื่องพิพาทดังกล่าวมาพิจารณากันว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อกัน เหตุการณ์ที่เกิดฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายต้องรับผิดชอบในเรื่องของค่าเสียห่ย ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้หากคู่สัญญาได้ทำสัญญาไว้เป็นลายลักอักษรก็จะใช้สัญญาเป็นตัวกำหนดในเรื่องของค่าเสียหายต่อกันได้ แต่ในกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ บางท่านก็นำเรื่องดังกล่าวมาใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลโดยให้ทนายความฟ้องดำเนินคดีกันตามกฎหมาย เพื่อให้ศาลได้มีการพิจารณาและตัดสินคดีหรือตัดสินข้อพิพาทต่อกันให้ข้อพิพาทที่มีต่อกันเป็นอันยุติไปได้
สอบถามข้อสงสัยเพิ่มเติม 091-0473382