ฟ้องคดีแล้วได้อะไร
ในปัจจุบันคนจำนวนไม่น้อยคิดว่า เรื่องหนี้สินนั้นเป็นเรื่องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้หรือสถาบันการเงินแต่แท้จริงแล้วเรื่องหนี้นั้นมีผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมด้วยการผิดนัดชำระหนี้หรือค้างชำระหนี้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดภาวะหนี้เสีย(เอ็นพีแอล)หากเจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงกันไม่ได้หรือลูกหนี้ไม่ยอมติดต่อ ผ่านไประยะเวลาหนึ่งเจ้าหนี้จะฟ้องดำเนินคดีกับลูกหนี้เพื่อให้กรอบกฎหมายดูแลให้ลูกหนี้คืนเงินและถ้าคดีสิ้นสุดมีคำพิพากษาและยังไม่มีการชำระหนี้กันเจ้าหนี้มีสิทธิตามกฎหมายดังต่อไปนี้
1.มอบหมายให้ทนายความสืบทรัพย์เพื่อทราบว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินอะไรบ้าง เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ เงินเดือน สลากออมทรัพย์ เงินเก็บในธนาคารหรือทรัพย์สินอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น
2.เมื่อทราบว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินอะไรแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการมอบหมายให้ทนายความดำเนินการสู่ขั้นตอนของการบังคับคดี ได้แก่ การอายัดเงินเดือน ยึดทรัพย์ขายทอดตลาด และอื่นๆ
3.เมื่อเข้าสู่กระบวนการบังตับคดีแล้วหากมีการขายทรัพย์ได้เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธินำเงินที่ได้จากการบังคับคดีมาหักกับจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้ต้องชำระพร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ค่าขึ้นศาล ค่าทนายความ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆอันเกี่ยวข้องกับการบังคับคดี
ดังนั้น จากหัวข้อที่ว่า ฟ้องคดีแล้วได้อะไร จากบทความข้างต้นนั้นเห็นได้ว่า เจ้าหนี้อาจได้รับชำระหนี้โดยครบถ้วนก็ได้หรือลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินทำให้ไม่ได้รับชำระหนี้เลยก็อาจเป็นได้หรืออาจได้รับชำระหนี้บางส่วนแต่อย่างไรเสียเมื่อมีการฟ้องคดีและมีการตั้งเรื่องเพื่อบังคับคดีแล้วย่อมเป็นสิ่งดี ดีกว่าไม่ดำเนินการอะไรเลยจนคดีขาดอายุความแต่เมื่อได้ตั้งเรื่องในการบังคับคดีแล้ว เจ้าหนี้ก็มีสิทธิในการบังคับคดีเอากับลูกหนี้โดยกฎหมายให้กรอบเอาไว้เป็นระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันที่คดีถึงที่สุดและเมื่อใดที่ลูกหนี้มีทรัพย์สินขึ้นมาเจ้าหนี้ก็สามารถบังคับหนี้ได้ตามระยะเวลานั้น
เมื่อพิจารณาขั้นตอนข้างต้นแล้วจึงมีความจำเป็นต้องปรึกษาและมอบหมายให้ทนายความเป็นผู้ให้คำปรึกษาและดำเนินการฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิต่อไป