การใช้ทนายความขึ้นศาล
ทนายความ คือ ผู้มีอาชีพรับจ้าง เหมือนผู้รับเหมาหรือผู้รับจ้างทั่วไป ซึ่งหากแปลให้ตรงตัวคือผู้รับใช้ แต่ที่ต่างกันกับอาชีพอื่นคือทนายความต้องมีใบอนุญาตให้ว่าความในเขตอำนาจศาลของประเทศไทย ซึ่งออกโดยสภาทนายความแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เป็นองค์กรที่กำกับ ควบคุมคุมมาตรฐาน และ มรรยาท ซึ่งหากสมาชิกคนใดก็ตามที่ประพฤติปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรฐานก็อาจจะถูกเพิกถอน หรือพักใช้ใบอนุญาต ซึ่งส่งผลให้คนนั้นไม่มีสิทธิขึ้นว่าความในศาลได้ ดังนั้นผู้ที่จะเป็นทนายความในประเทศไทยได้จึงต้องได้ใบอนุญาตจากสภาทนายความแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เท่านั้น จะได้รับใบอนุญาตจากประเทศอื่นก็ไม่สามารถขึ้นว่าความในศาลไทยได้เช่นเดียวกัน อาจกล่าวได้ว่าทนายความเป็นวิชาชีพเฉพาะทาง ประเภทหนึ่ง ดังนั้นเมื้อทนายความคนใดก็ตามตกลงรับทำงานในเรื่องใดก็ตามจึงต้องรับผิดชอบจนเสร็จงานของแต่ชั้นศาล หากทอดทิ้งงานก็อาจจะถูกลงโทษ
ทนายความจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีการแต่งทนายความให้ทำงานโดยผู้อื่นซึ่งอาจเป็น โจทก์ หรือ จำเลยในคดีใดๆและต้องลงลายมือชื่อผู้แต่งทนายความ ในแบบพิมพ์ของศาล จึงจะสามารถดำเนินคดีในฐานะโจทก์ หรือ จำเลย ได้ โดยตรงช่องผู้แต่งทนายความ จะมีข้อความระบุว่ายอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายเรียกร้อง ถอนฟ้อง ประนีประนอมยอมความ สละสิทธิหรือใช้สิทธิ ในการอุทธรณ์ฎีกาหรือการพิจารณาคดีใหม่..สำหรับคดีแพ่งและอาญาหรือล้มละลาย ส่วนคดีอาญา อาจพิมพ์คำว่า “ว่าต่างและแก้ต่าง อุทธรณ์ฎีกา” ก็สามารถระบุได้
ส่วนอัตราค่าตอบแทนวิชาชีพหรือการจ้างทนายความให้ทำงานแทนนั้นแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคนจ้าง กับ ทนายความ ไม่มีกำหนดอัตราค่าจ้างที่เป็นมาตรฐานชัดเจน แน่นอนกำกับไว้ ดังนั้นการจ้างทนายความจึงเป็นดุลพินิจของผู้จ้างที่จะเลือกจ้างได้ตามความประสงค์และตามอัธยาศัย
การใช้หรือจ้างทนายความไปศาลเพื่อดำเนินการในภารกิจแทนตัวความจึงเป็นการสะดวก ลดภาระงานสำหรับผู้มีคดีความที่ศาล และการหาทนายความทุกวันนี้ ก็ง่ายมาก เพราะทนายความมีอยู่ทั่วทุกจังหวัด ทุกอำเภอหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าทนายความมีอยู่ทุกหนทุกแห่งทุกตำบลทุกหมู่บ้าน นับเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่มีคดีความทั่วไป