การแสดงเจตนาเพราะเหตุกลฉ้อฉล
กลฉ้อฉล หมายถึง การหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้แสดงเจตนาหลงเชื่อและเข้าใจผิดจากความเป็นจริง การแสดงเจตนาเพราะเหตุกลฉ้อฉลแบ่งได้ 3 ประเภทดังนี้
ก. กลฉ้อฉลถึงขนาด หมายถึง การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งใช้กลอุบายหลอกลวงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยแสดงข้อความไม่ตรงต่อความเป็นจริง จนคู่กรณีฝ่ายที่ถูกหลอกลวงหลงเชื่อและได้แสดงเจตนาเข้าทำนิติกรรมนั้น ซึ่งหากไม่มีการหลอกลวงเช่นนั้นแล้ว นิติกรรมนั้นก็คงมิได้ทำขึ้น ตัวอย่างเช่น นางแดง หลอกลวงนางดำว่าแหวนที่นางแดงนำมาขายนั้นป็นแหวนเพชรแท้ นางดำหลงเชื่อ จึงแสดงเจตนาซื้อแหวนดังกล่าวจากนางแดง ความจริงปรากฏว่า แหวนดังกล่าวเป็นแหวนเพชรเทียม หากนางดำรู้ ก็คงไม่ทำสัญญาซื้อเพชรจากนางแดงอย่างแน่นอน เช่นนี้การหลอกลวงของนางแดงทำให้นางดำหลงเชื่อ และได้แสดงเจตนาทำนิติกรรมไป นิติกรรมระหว่างนางแดงกับนางดำจึงตกเป็นโมฆียะแต่ถ้าข้อเท็จจริงข้างต้นเปลี่ยนไปว่า นางดำซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเพชร ได้ตรวจสอบดูแล้วรู้ว่าเป็นเพชรเทียม แต่ก็ยังแสดงเจตนาเข้าทำนิติกรรมซื้อแหวนเพชรดังกล่าวจากนางแดงแสดงว่ากลฉ้อฉลนั้นไม่ถึงขนาด นิติกรรมจึงสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะ
ข. กลฉ้อฉลเพื่อเหตุ หมายถึง การที่คู่กรณีฝ่ายแรกมีเจตนาที่จะทำนิติกรรมนั้นอยู่แล้ว และคู่กรณีฝ่ายหลังใช้กลอุบายเพื่อเอาเปรียบคู่กรณีฝ่ายแรก คู่กรณีฝ่ายแรกที่ถูกเอาเปรียบ จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากคู่กรณีฝ่ายหลังที่เอาเปรียบได้ แต่จะบอกล้างไม่ได้ นิติกรรมนั้นยังมีผลสมบูรณ์อยู่ ตัวอย่างเช่น นายสมจริงต้องการขายสุนัขพันธุ์ดีให้นายสมหมาย ซึ่งตามปกติราคาในท้องตลาดสุนัขพันธุ์ดีในลักษณะเช่นนี้มีราคาเพียง 20,000 บาท แต่นายสมจริงได้หลอกลวงนายสมหมายว่า สุนัขพันธุ์ดีตัวนี้ได้เคยนำออกแข่งและชนะเลิศการแข่งขันหลายครั้ง นายสมจริงจึงเรียกร้องราคาเพิ่มขึ้นอีก 5,000 บาท เช่นนี้ถือว่านายสมจริงใช้กลฉ้อฉลเพื่อเอาเปรียบนายสมหมายให้ซื้อสุนัขพันธุ์ดีแพงไป 5,000 บาท นายสมหมายจึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาท คืนจากนายสมจริงได้
ค. กลฉ้อฉลโดยการนิ่ง หมายถึง การที่คู่กรณีฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องแจ้งความจริง ได้
จงใจนิ่งเฉย จนทำให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งสำคัญผิด และได้แสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้น ตัวอย่างเช่น นายประหม่า เป็นคนใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ได้มาขอกู้เงินจากนายประหยัดเป็นจำนวนมากโดยปกปิดซึ่งความจริงของการเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว นายประหยัดรู้ว่านายประหม่าเป็นคนใช้ฟุ่มเฟือยจริงแต่เข้าใจว่าเป็นคนมีฐานะดี จึงให้กู้เงินจำนวนดังกล่าวไป เช่นนี้ถือว่าเป็นกลฉ้อฉลโดยการนิ่ง ซึ่งมีผลให้สัญญากู้นั้นตกเป็นโมฆียะ
ผลของการแสดงเจตนาเพราะเหตุกลฉ้อฉลมีดังนี้
ก. กรณีกลฉ้อฉลถึงขนาด นิติกรรมย่อมตกเป็นโมฆียะ แต่ถ้ากลฉ้อฉลถึงขนาดกระทำโดยบุคคลภายนอก นิติกรรมจะตกเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งที่มิใช่ฝ่ายที่ถูกกลฉ้อฉลได้รู้หรือควรรู้ว่ามีกลฉ้อฉลเช่นนั้น
ข. กรณีกลฉ้อฉลเพื่อเหตุ นิติกรรมยังคงมีผลสมบูรณ์ เพียงแต่ให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่คู่กรณีฝ่ายที่ถูกเอาเปรียบเท่านั้น
บทความโดย : ทนายสุริยา สนธิวงศ์