การเตรียมตัวก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวน
1.สอบถามให้ชัดเจนว่าถูกเรียกไปพบในสถานะใด ในกรณีที่ถูกหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนตัวความควรรู้เบื้องต้นว่าท่านไปพบพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน หรือ ผู้ถูกกล่าวหา หากมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้วเราตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหาเรามีสิทธิทางกฎหมายที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ หากไปในฐานะพยานเรามีหน้าที่ต้องให้การตามความเป็นจริงหากฝ่าฝืนอาจถูกแจ้งข้อกล่าวในเรื่องการให้การเท็จด้วยได้
2.การให้การต่อพนักงานสอบสวนพร้อมเหตุผล และ พยานหลักฐานที่มีอยู่ให้พนักงานทราบ แม้ว่าเราจะตกเป็นผู้ต้องหาแต่เรามีสิทธิให้การหรือไม่ให้การก็ได้ แต่การปฏิเสธโดยไม่มีเหตุผลทำให้มีโอกาสที่จะถูกฟ้องคดีได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้นเราต้องมีพยานหลักฐานไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานเอกสารหรือพยานวัตถุ เป็นต้น
3.สิทธิที่จะให้บุคคลที่ไว้วางใจหรือทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวนซึ่งกฎหมายกำหนดสิทธิข้อนี้ไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ทนายความช่วยเหลือและรักษาประโยชน์ของผู้ต้องหา ซึ่งพนักงานสอบสวนไม่มีสิทธิที่จะกันบุคคลตามกฎหมายออกไปได้ ลักษณะนี้ถือว่าการเข้าพบตำรวจท่านเปรียบเสมือนมีตัวช่วยคอยชี้แนะ แนะนำ ให้คำปรึกษาถึงผลดีผลเสียในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องในคดีได้
4.สอบถามเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว การพบพนักงานสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาเมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาและรับทราบข้อกล่าวหาจะมีการพิมพ์ลายนิ้วมือและบางคดีอาจต้องมีการควบคุมตัวในขั้นตอนนี้จึงควรมีทนายความมาช่วยเหลือในเรื่องของการประกันตัวและการจัดเตรียมหลักทรัพย์ในการประกันตัวซึ่งในข้อนี้มีความสำคัญมากเพราะหากไม่ได้รับการประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวนั้น จะทำให้การเตรียมพยานหลักฐานเพื่อชี้แจงต่อพนักงานสอบสวนจะไม่สะดวกและเป็นไปได้ยาก แต่หากได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนเรื่องการใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวแล้วควรรับปรึกษาทนายความของท่านเพื่อหาช่องทางในการต่อสู้คดีและหากในวันนัดตามหมายเรียกเรายังไม่พร้อมควรแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อขอเลื่อนกำหนดการไปก่อนจนกว่าทนายความของท่านจะได้จัดเตรียมแนวทางในการต่อสู้คดีเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นจากบทความข้างต้นที่ได้กล่าวเอาไว้แล้ว ทนายความของท่านจึงมีบทบาทสำคัญตามกฎหมายที่จะช่วยเหลือท่านได้และเป็นที่ไว้วางใจในการจัดเตรียมแนวทางต่อสู้คดีครับ